Get Adobe Flash player

ข่าวสารผู้รับใช้ฯ

สถิติการเยี่ยมชม

001641936
Today
Yesterday
This Week
Last Week
This Month
Last Month
All days
163
349
2013
1561815
2013
15473
1641936

Your IP: 3.145.154.251
Server Time: 2024-12-03 16:44:02

Who 's Online

มี 3 ผู้มาเยือน และ ไม่มีสมาชิกออนไลน์ ออนไลน์

2. หนทางแห่งกระแสเรียกธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ และกระแสเรียกธรรมทูต
        
คุณแม่ลุยยีนาเล่าอีกว่า เมื่อเข้าสู่วัยสาว ท่านก็มีคู่รัก และมั่นหมายจะแต่งงานกัน ผู้ใหญ่ก็ให้โอกาสพบและพูดคุยกัน เพื่อรู้จักนิสัยใจคอ แต่คุณแม่ยังเป็นประธานเยาวชนของวัด และช่วยกิจการของวัด คุณพ่อเจ้าวัดชอบงานเยาวชนแบบนี้มาก วันหนึ่งหลังพิธีในวัด คุณแม่ก็ไปประชุมกับเยาวชนหญิง พอดีคู่รักมาหา มีคนไปตามท่าน และท่านบอกกับคนที่ไปตามว่า ให้นั่งรอที่ห้องรับแขกสักครู่ พอเสร็จธุระท่านก็มาหา ทันทีที่เห็น คู่รักก็ต่อว่าทันที "แต่งงานกันแล้วจะให้เลิกงานแบบนี้ ไม่ให้ทำแล้ว" ประโยคนี้ทำให้คุณแม่คิดว่า ขณะที่ยังไม่ได้แต่งงานกัน ยังบังคับกันแบบนี้ ถ้าแต่งงานกันไปแล้วจะมิร้ายแรงกว่านี้หรือ และท่านก็ชอบงานแบบนี้มาก คงเลิกไม่ได้ คิดแล้วไตร่ตรองแล้วก็ไม่อยากแต่งงาน จึงไปปรึกษามารดา คุณแม่ของท่านบอกว่าแล้วแต่ลูก เพราะเป็นเรื่องส่วนตัว ต้องตัดสินใจเอง ท่านจึงตัดสินใจไม่แต่งงาน เลือกกลับมาช่วยงานของวัด ได้แสดงความคิดเห็นและความไม่สมัครใจแต่งงานให้คู่รักทราบ และเลิกติดต่อกันตั้งแต่นั้นมา [1] นั่นคงเป็นสัญญาณจากพระเจ้า และทำให้คุณแม่ลุยยีนาเริ่มได้ยินเสียงของพระองค์

        เนื่องจาก ท่านได้รับการศึกษาเพียงขั้นพื้นฐาน ท่านเริ่มสนใจเรียนรู้ด้านงานบ้าน การตัดเย็บเสื้อผ้า และเข้าคอร์สการพยาบาล ทั้งหมดนี้นับว่าเป็นการเตรียมของพระญาณเอื้ออาทร เพื่อนำท่านสู่ชีวิตธรรมทูตในเวลาต่อมา

      
        เมื่ออายุ 23 ปี ท่านตัดสินใจขออนุญาตบิดา เพื่อเข้าในคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ (ไม่มีกล่าวถึงว่า ในตำบลของท่านมีอารามธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์ทำงานอยู่หรือไม่) แม้จะรู้สึกเจ็บปวดกับการที่จะต้องจากบุตรหญิงที่เป็นมือขวาในชีวิตและการทำงาน บิดาผู้เต็มด้วยความเชื่อศรัทธาไม่สามารถปฏิเสธพระประสงค์ของพระเจ้า ท่านจึงได้พาคุณแม่ลุยยีนาไปเข้าอารามที่ Conegliano

        เราไม่ทราบรายละเอียดมากนักเกี่ยวกับชีวิตของท่านในบ้านอบรม คุณแม่ลุยยีนาเล่าเอง ตามที่ผู้ใหญ่ของคณะธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์นำมาเล่าต่อว่า  เพราะความกระตือรือร้นและความมีชีวิตชีวาของท่าน ท่านรู้สึกลำบากในการที่จะเข้าใจและให้อภัยในความคิดตื้น ๆ ไม่เอาจริงเอาจังของนวกนารีที่อายุน้อยกว่า แต่ท่านก็พยายาม ท่านมีความเชื่อศรัทธาที่สัมผัสได้ เรียบง่ายและมีความมั่นใจในตนเอง พระเจ้าทรงพอพระทัยประทานญาณพิเศษแก่ท่าน ในการแยกแยะเรื่องต่าง ๆ และในการตัดสินใจอย่างถูกต้องและชัดเจน[2]

         คุณแม่ลุยยีนาทำการถวายตัวครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 1926 ที่ Conegliano พร้อมกับเพื่อนร่วมรุ่นอีก 19 คน หลังจากนั้นท่านถูกส่งไปทำงานที่ Parma ทันที และอยู่ที่นั่นประมาณ 5 ปี คือจนถึงเวลาที่ผู้ใหญ่เรียกให้ร่วมกลุ่มธรรมทูตกลุ่มแรกที่จะมาประเทศไทยในปี 1931

        ท่านรักการแพร่ธรรมตั้งแต่อายุยังน้อย และอยากเป็นธรรมทูต ท่านเล่าว่า เมื่อทราบว่าจะมีการส่งธรรมทูตมาประเทศไทย ท่านขอผู้ใหญ่ให้ส่งท่านมาเมืองไทยด้วย ตอนแรกผู้ใหญ่ไม่อนุญาต เพราะสุขภาพท่านไม่ดี มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้ วันหนึ่งท่านยกเก้าอี้และปีนขึ้นไปซบหน้ากับตู้ศีลบอกพระเยซูในตู้ศีลมหาสนิทว่า "ขอให้หายเถอะ จะได้ไปเมืองไทย เอาไว้แก่แล้วถึงเป็นโรคนี้อีกก็ได้ แต่เวลานี้ขอให้หายก่อน" พระองค์ทรงฟังคำภาวนา? ท่านก็หายจากโรคและได้มาเมืองไทยสมปรารถนา แต่เมื่อเข้าสู่วัยท่านชรา ท่านก็มีปัญหาเกี่ยวกับลำไส้อีก ต้องระวังเรื่องอาหาร ต้องอดของแสลง และหาหมอเป็นประจำ ท่านต้องทรมานตัวเกี่ยวกับโรคประจำตัวนี้ และต้องใช้ยาระบายช่วยเสมอ อาศัยที่ท่านดูแลตนเอง ท่านก็มีชีวิตได้ยืนนานถึง 87 ปี เมื่อท่านได้รับอนุญาตมาเมืองไทย ท่านดีใจมาก ญาติพี่น้องมาส่งที่ท่าเรือและร้องไห้เหมือนกับว่าท่านจะไปตาย[3]

        คุณแม่อัคราธิการิณีมาเรีย หลุยซา วาสเก็ตตี ได้เห็นความกล้าหาญของลูก ๆ ที่จะไปเริ่มบุกเบิกงานแพร่ธรรมแห่งใหม่ ท่านร่วมรับประทานอาหารค่ำวันก่อนออกเดินทาง วันรุ่งขึ้นช่วยดูแลเรื่องการจัดกระเป๋าเดินทางของแต่ละคนให้พร้อมและนำขึ้นรถบรรทุกที่จะนำไปยังสถานีรถไฟตุริน-เวนิส ท่านให้คุณแม่มาเรีย ลินดา ลูก๊อตตี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาท่านหนึ่งไปส่งที่เวนิสแทนท่าน คุณแม่ลุยยีนา พร้อมกับเพื่อนสมาชิกอีก 5 คน คือ คุณแม่มาเรีย บัลโด ซิสเตอร์กราเซียลลา อามาตี ซิสเตอร์ยูเลีย เลาตอน ซิสเตอร์อันตนเนียตตา โมเรลลาโตที่มีอายุน้อยที่สุด[4]

        พวกเขาได้เริ่มออกเดินทางจากตุรินไปเวนิส ลงเรือที่เวนีส โดยมีคุณแม่ลินดา ลูก๊อตตี ลงไปส่งถึงในเรือด้วยกัน เรือ "Ganges" ออกเดินทางวันที่ 17 ตุลาคม 1931? ผู้ร่วมเดินทางมีธรรมทูตโปรเตสตันต์ และนักบวชหญิงอังกลีกันด้วย ระหว่างการเดินทางที่ยาวนานและสงบราบรื่น พวกเขาแบ่งเวลาในการสวดภาวนาและทำงาน ศึกษาภาษาอังกฤษและหย่อนใจ

             เรือมาถึงบอมเบย์ ซิสเตอร์มาเรีย อาวีโอซึ่งเป็นธรรมทูตที่อัสสัม อินเดียทางเหนืออยู่แล้ว ได้สมทบกลุ่มธรรมทูต และได้รับมอบหมายเป็นอธิการิณีคนแรกของกลุ่ม

             เช้าวันที่ 5 พฤศจิกายน 1931 เรือทอดสมอที่สิงคโปร์ ที่นี่พวกเขาได้พบคุณพ่อเจ้าคณะ กาเยตาโน ปาซอตตีที่มารอรับด้วยความยินดียิ่ง และคุณพ่อก็ได้นำการเดินทางต่อไปยังกรุงเทพ ฯ ด้วยเรือสินค้าขนาดเล็ก ชื่อ"Kuala" ระยะเวลา 5 วันก็ถึงกรุงเทพ ฯ ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 1931 รวมเวลาเดินทางประมาณหนึ่งเดือน

             พวกเขาเป็นแขกของคณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร ชาวฝรั่งเศสที่กรุงเทพ ฯ มีโอกาสเยี่ยมชมสถาบันนักบวชต่าง ๆ และเข้าคารวะพระสังฆราช เรอเน แปร์รอสด้วย

             วันต่อมา พวกเขาก็ยังต้องนั่งเรือต่อไปบางนกแขวก เป็นเรือยนตร์ลำใหญ่ แล่นไปตามลำคลองที่คดเคี้ยว ผ่านคลองผีหลอก สองข้างเต็มด้วยต้นไม้เขตร้อนและกอไผ่ขึ้นระเกะระกะ พอเรือใกล้จะเทียบท่าที่บางนกแขวก คุณแม่ลุยยีนามองไปเห็นอาราม เห็นห้องยาสำหรับรักษาคนป่วย ฯลฯ ท่านก็ร้องไห้ใหญ่โตทีเดียว เพราะเหมือนกับภาพนิมิตที่ท่านเห็นตั้งแต่อยู่อิตาลีแล้ว เวลานี้ได้เห็น จะได้อยู่ และได้สัมผัสในชีวิตจริง เพื่อนสมาชิกที่มาด้วยกันกับท่านไม่ทราบสาเหตุของการร้องไห้ สมาชิกท่านหนึ่ง จึงได้ถามว่า "นี่เธอ ร้องไห้เสียใจที่ได้ทิ้งบ้านช่อง อาราม ประเทศชาติ ที่อำนวยความสะดวกสบายและมาอยู่อัตคัดแร้นแค้นที่นี่หรือ " ท่านจึงบอกความจริง ที่พระเป็นเจ้าได้กรุณาต่อท่าน ให้ได้เห็นภาพอารามบ้านช่องที่จะมาอยู่นี้ตั้งแต่ยังอยู่ที่อิตาลี จึงรู้สึกปลาบปลื้มระคนกับความรู้สึกถึงความเมตตาของพระเจ้าที่มีต่อท่าน จึงต้องร้องไห้ด้วยความตื้นตันใจ[5]

             ที่ท่าน้ำหน้าวัดแม่พระบังเกิด บรรดาซิสเตอร์ธรรมทูตได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากบรรดาซาเลเซียนที่ล่วงหน้ามาก่อน 4 ปี นอกจากนั้น บรรดาคริสตชน และเด็ก ๆ ต้อนรับด้วยความตื่นเต้นและอยากรู้อยากเห็น ด้วยการก้มศีรษะคำนับและรอยยิ้มที่ร่าเริงพวกเขา เอ่ยคำ "Benvenute" ต้อนรับบรรดาซิสเตอร์ด้วยภาษาที่พวกเขายังไม่เข้าใจด้วยซ้ำ

             พวกซิสเตอร์ได้เข้าไปในวัดแม่พระบังเกิด ไปที่แท่นแม่พระมหาชัย? ดูเหมือนพระแม่จะยิ้มด้วยหัวใจเยี่ยงแม่ที่พร้อมจะสนับสนุนและให้การช่วยเหลือเสมอ

             พวกเขาเข้าไปยังบ้านพักแห่งแรก ในตอนแรก พวกเขามองดูว่าใหญ่ สะดวก สวยงามและไม่ยากจนอย่างที่คิดไว้ แต่ไม่นานพวกเขาก็รับรู้ว่า ส่วนหนึ่งของบ้านนั้นเป็นที่พำนักของหมู่คณะพรหมจารี (นักบวชรักกางเขน) ที่อาวุโสแล้ว 8 คน คนเหล่านั้นได้ทำงานเป็นผู้ช่วยบรรดาธรรมทูตตามวัดต่าง ๆ พวกเขาทำงานมากและด้วยความเสียสละอย่างมากสำหรับวัด มีเด็กกำพร้าอีก 8 คน และผู้หญิงที่ช่วยทำงานบ้านอีกจำนวนหนึ่ง นอกเหนือจากนั้น บรรดาธรรมทูตก็พบกับผู้อาศัยอีกจำพวกหนึ่งในบ้าน นั่นคือยุง ซึ่งจำต้องรีบหามุ้งเพื่อสามารถนอนกันได้

           เย็นวันที่มาถึงบางนกแขวกนั้นเอง บรรดาสามเณรจัดการแสดงสั้น ๆ เป็นการต้อนรับบรรดาซิสเตอร์ ในนามของทุกคน มีบรรดาคริสตชนมาร่วมด้วย

           วันรุ่งขึ้น บรรดาซิสเตอร์ที่ทุกคนรอคอยมานาน ก็เริ่มงานในด้านต่าง ๆ แม้จะยังไม่รู้ภาษา และโดยไม่มีเวลาที่จะเที่ยวชมโลกใบใหม่ของพวกเขาที่นี่ ซึ่งแตกต่างจากโลกที่พวกเขาจากมาเป็นอย่างมาก

           ความยากลำบากแรกของบรรดาซิสเตอร์คือ การปรับตัวและยอมรับวิถีดำเนินชีวิตและการทำงานของบรรดา พรหมจารีอาวุโสเหล่านั้น ที่เป็นเจ้าของบ้านมานาน[6]

           คุณแม่มาเรีย บัลโดและคุณแม่ลุยยีนา ดี โยร์โย เป็นสมาชิกที่มีอายุมากกว่าคนอื่น จึงรับภาระหนักในการจัดการเรื่องต่าง ๆ ขณะที่ให้บรรดาสมาชิกที่อายุน้อยกว่าเริ่มเรียนภาษาไทย ครูเณรไบน๊อตตี ซึ่งรู้ภาษาไทยดีพอสมควรเป็นผู้สอนให้วันละครึ่งชั่วโมง เนื่องจากคุณแม่ลุยยีนา มีความรู้เรื่องการตัดเย็บเสื้อผ้า ท่านจึงมีงานเต็มมือตั้งแต่วาระแรกเลยทีเดียว เสื้อผ้าที่ขาดของบรรดาพระสงฆ์และสามเณร การสอนงานเย็บปักถักร้อยให้กับเด็ก ๆ และเยาวชน นอกจากนั้น วัดบางนกแขวกยังมีสถานพยาบาล คุณแม่ลุยยีนา ก็เริ่มทำงานช่วยเหลือ บรรเทาทุกข์คนเจ็บป่วยทุก ๆ คนที่มาหา ท่านจึงไม่มีเวลาเรียนภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่ค่อย ๆ เรียนรู้ที่จะพูดและฟังในขณะที่ทำงานไปด้วย[7]

           เมื่อบรรดาซิสเตอร์มาถึงบางนกแขวกได้ไม่นาน คือ โอกาสสมโภชแม่พระปฏิสนธินิรมล? 8 ธันวาคมปี 1931 นั้นเอง ก็มีงานใหญ่ระดับมิสซัง นั่นคือ สมโภช 15 ศตวรรษแห่งสังคายนาเมืองเอเฟซัส ซึ่งมีการประกาศข้อความเชื่อว่า แม่พระเป็นพระมารดาของพระเจ้า พวก ซิสเตอร์ได้รับมอบหมายให้ตกแต่งเรือและบุษบกที่ประทับของพระรูปพระมารดา เพื่อนำขบวนแห่ตามลำน้ำแม่กลอง เป็นโอกาสที่พวกเขาได้แสดงความรักศรัทธาต่อพระมารดาอย่างพิเศษ[8]

           ในบรรดาธรรมทูตธิดาแม่พระองค์อุปถัมภ์กลุ่มแรกนี้ ยังไม่มีใครปฏิญาณตลอดชีพเลย คนแรกที่ทำการปฏิญาณตลอดชีพคือ คุณแม่ลุยยีนา ดี โยร์โย โดยมีการเข้าเงียบประจำปีร่วมกัน คุณพ่อปาซอตตีเป็นผู้เทศน์ในหัวข้อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ สรุปได้ว่า "ในฐานะที่เป็นผู้บุกเบิกงานแพร่ธรรมในมิสซัง ต้องเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ พระเจ้าทรงประสงค์เช่นนั้น ธรรมนูญของคณะก็มีจุดหมายเดียวกัน บรรดาวิญญาณทั้งหลายและกระแสเรียกของท่านเองก็เรียกร้องความศักดิ์สิทธิ์ของท่าน" และในวันนั้น (คงจะเป็นวันที่ 5 สิงหาคม 1932) ยังมีซิสเตอร์ยูเลีย เลาตอน และ ซิสเตอร์อันตนเนียตตา โมเรลลาโต ทำการปฏิญาณชั่วคราวต่อด้วย[9] ที่วัดแม่พระบังเกิด แต่ขณะนั้นกำลังมีการซ่อมแซมวัด คุณแม่เองเล่าว่า มีการประกอบพิธีหลังพระแท่นใหญ่ของวัด ด้วยความรู้สึกเหมือนอยู่ในมหาวิหารแม่พระองค์อุปถัมภ์ที่กรุงตุริน ปีต่อมาซิสเตอร์มาเรีย บัลโด ก็ทำการปฏิญาณตลอดชีพเช่นกัน [10]

           ต้นเดือนกันยายน ปี 1932 คุณพ่อปาซอตตี นำของขวัญสองชิ้นมามอบให้บรรดาซิสเตอร์ นั่นคือเครื่องใช้สำหรับหุงต้มและหีบเพลงเล็ก ๆ หลังหนึ่ง ทำให้หมู่คณะได้ทำการฉลองและในบ้านมีบรรยากาศรื่นเริงยินดีแผ่ไปทั่ว เฉพาะอย่างยิ่งการฉลองศาสนนามอธิการิณีที่ใกล้เข้ามา บรรดาเด็กกำพร้ามีส่วนร่วมในความชื่นชมยินดีนี้ด้วย[11]

           วันที่ 22 พฤศจิกายน 1932 มีธรรมทูตใหม่มาเพิ่ม 2 คน คือ ซิสเตอร์โรส มูร์ ชาวไอร์แลนด์ และซิสเตอร์มาเรีย Boz ?ชาวอิตาเลียน ซึ่งได้รับการต้อนรับอย่างสง่าจากครอบครัวซาเลเซียนที่ท่าน้ำบางนกแขวก[12]


[1] ?เทียบ? Ispettoria Thailandese,? Cenni Biografici di Sr.Luigina di Giorgio SIHM 10.2002? ?p.17-18

[2] ?เทียบ? Ispettoria Thailandese,? Cenni Biografici di Sr.Luigina di Giorgio ?SIHM ?10.2002? p.1

[3] ?ซ.วชิรา?? กฤษบำรุง? ผู้รับฟัง ??เทียบ? Ispettoria Thailandese,? Cenni Biografici di Sr.Luigina di Giorgio SIHM 10.2002? ?p.18

[4] ?เทียบ? Alessi Antonio,? Con Maria nel Paese del Buddismo ?SIHM 01.2206 p. 9??

[5] ซ.วชิรา?? กฤษบำรุง? ผู้รับฟัง? ??เทียบ?? Cronistoria Ispettoria Thailandese "S.M.Mazzarello" FMA, 1931-1981? SIHM 10.2003? pp.1-3

[6] ?เทียบ? Cronistoria Ispettoria Thailandese "S.M.Mazzarello" FMA? 1931-1981 ?SIHM 10.2003 ?pp. 3-4

[7] ?เทียบ Ibid? pp.4-5

[8] ?เทียบ? Cronistoria Ispettoria Thailandese "S.M.Mazzarello" FMA? 1931-1981? SIHM 10.2003? p5

[9] ?เทียบ? Alessi Antonio,? Con Maria nel Paese del Buddismo ?SIHM 01.2206 pp. 35-36

[10] ?เทียบ? Cronistoria Ispettoria Thailandese "S.M.Mazzarello" FMA? 1931-1981? SIHM 10.2003? p. 7 ??

[11] ?เทียบ ibid? p. 8??

[12] ?เทียบ? Alessi Antonio, ?Con Maria nel Paese del Buddismo SIHM 01.2206 p 36?

ฝ่ายการอบรมต่อเนื่อง