บ้านเยาวสตรีหทัยนิรมล เชียงใหม่....
บ้าน “เยาวสตรีหทัยนิรมล” เชียงใหม่
สืบเนื่องจากนโยบายของสมัชชาสามัญครั้งที่ 9 (ค.ศ.2005) และสมัชชาสามัญครั้งที่ 10 (ค.ศ. 2010) ที่มีนโยบายจะช่วยเหลือผู้ยากไร้ทั้งฝ่ายกายและจิตใจ อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสานต่อภารกิจและเจตนารมณ์ของพระสังฆราชกาเยตาโน ปาซอตตี บิดาผู้ตั้งคณะ ที่ได้วางแนวทางปฏิบัติ ให้คณะภคินีผู้รับใช้ฯ ทำความดีเพื่อช่วยเหลือเด็กและสตรี
ในปีการศึกษา 2554 คณะจึงได้ดำเนินการเปิดบ้านใหม่ “บ้านเยาวสตรีหทัยนิรมล” ตั้งอยู่ที่บ้านเลขที่ 131 หมู่ที่ 5 ตำบลสำราญราษฎร์ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อช่วยเหลือเยาวสตรีที่ยากจ กำพร้า ด้อยโอกาส ให้มีที่พักอาศัยที่ปลอดภัย ได้รับการศึกษาในระดับมัธยมปลายหรืออาชีวะศึกษา
ทั้งนี้เพื่อพัฒนาพื้นฐานความเป็นมนุษย์ให้กับเยาวสตรี ให้มีความภาคภูมิใจในมรดกทางวัฒนธรรมของตน เคารพเกียรติศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน สามารถเจริญชีวิตร่วมกับผู้อื่นในสังคมด้วยความมั่นใจและมีความสุข อีกทั้งวางรากฐานชีวิตคริสตชนให้ลึกซึ้งสามารถบูรณาการความเชื่อให้เข้ากับวัฒนธรรมและชีวิตประจำวันของตน โดยหวังว่าการอบรมในบ้านนี้จะช่วยให้เยาวสตรีสามารถปรับตัวเท่าทันเหตุการณ์ การเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกยุคปัจจุบัน มีแรงบันดาลใจที่จะอุทิศตนเพื่อสังคมและความต้องการของท้องถิ่น มีโอกาสที่จะพัฒนาทักษะด้านการงานอาชีพ จนสามารถเป็นผู้นำที่พัฒนาตนเอง และนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปช่วยเหลือผู้อื่นต่อไป
คณะได้เปิดบ้านทำงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2554 มีเยาวสตรีกลุ่มชาติพันธ์กลุ่มแรก 10 คน จากเผ่าปากาเกอะญอ และละว้า หรือ ลั้ว พร้อมผู้ปกครอง รวมกันที่สวนเจ็ดริน เวลา 11.00 น. ออกเดินทางไปสันกำแพง ถึงบ้านเยาวสตรี เวลา 12.30 น. ช่วยกันยกข้าวของต่าง ๆ เข้าบ้าน และชมบ้านที่พักของเยาวสตรี เวลา 13.00 น. อธิการิณีเจ้าคณะทักทายและพูดคุยกับผู้ปกครองและเยาวสตรีเหล่านี้ว่า “คณะให้ความสำคัญในการต้อนรับผู้ปกครองและเยาวสตรีทุกคน แม้ว่าจะเป็นกลุ่มเล็กๆ ก็ตาม คณะให้ซิสเตอร์สุมิตรา โจสรรค์นุสนธิ์ มาอยู่ด้วย แม้ซิสเตอร์จะมีงานอื่นที่ต้องทำด้วย แต่ซิสเตอร์ก็มาอยู่กับพวกเราที่นี่ บ้านนี้เป็นบ้านในฝันของซิสเตอร์ คณะปรารถนาให้เยาวสตรีโดยเฉพาะชนเผ่าที่อยู่ในสังฆมณฑลเชียงใหม่ มีชีวิตที่ดี มีโอกาสทางการศึกษาและได้รับการอบรมเป็นคริสตชนที่ดี มีความเชื่อในพระเจ้า แล้วกลับไปเป็นผู้นำในชุมชนหรือในท้องถิ่นของตัวเองได้อย่างมั่นใจ ที่นี่เป็นบ้านแรกของคณะในภาคเหนือ ในการเริ่มงานนี้ขอให้ทุกคนมีความสุขและรักบ้านของตัวเอง ให้ความร่วมมือกับซิสเตอร์ผู้ดูแลที่อยู่กับพวกเราอย่างดี”
ชีวิตความเป็นอยู่ที่เรียบง่ายและชีวิตคริสตชนที่เข้มข้นตามคุณค่าพระวรสารได้เริ่มขึ้นแล้ว เยาวสตรีทั้ง 10 คนมีน้ำใจดีได้ทุ่มเททั้งกายใจ ร่วมมืออย่างดีกับกระบวนการอบรมแม้จะอยู่ในช่วงเวลาที่งานก่อสร้างยังไม่เสร็จกำลังก่อสร้างบ้าน ความไม่สะดวกสบายภายนอกไม่ได้เป็นอุปสรรคในการพัฒนาชีวิตของเยาวสตรี แต่กลับกลายเป็นแรงบันดาลใจและเป็นพลังให้พวกเขารักบ้าน รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบ้าน และช่วยเหลือเกื้อกูลกัน อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข พร้อมทั้งปรับตัวเองให้เข้ากับเพื่อนๆ ที่โรงเรียน มั่นใจในตัวเองที่จะอยู่ร่วมสังคมกับคนในเมืองและการเรียนที่ยากขึ้น เอาชนะอุปสรรคต่างๆ ด้วยความมุ่งมั่น รู้ทิศทางและมีเป้าหมายในชีวิตที่จะต้องเดินไปให้ถึง จึงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นแรงผลักดันให้พวกเขามีความมุ่งมั่นแม้จะพบกับความยากลำบากก็ตาม
ในปีการศึกษา 2555 มีเยาวสตรีจากหมู่บ้านต่างๆ มาเพิ่มอีก 15 คน จากเผ่าปากาเกอะญอ รั้ว และอาข่า ซึ่งรู้จักบ้านนี้จากเชื้อแป้งที่ดีของรุ่นแรกที่เป็นพยาน เมื่อกลับไปที่หมู่บ้านของตนก็แนะนำกันต่อๆ ไป ทำให้เยาวสตรีรุ่นที่สอง มีความปรารถนาที่จะเติบโตด้วยความมั่นคงปลอดภัยและมีการศึกษาที่ดีเช่นกัน
บรรยากาศของบ้านจัดให้เหมาะสมสำหรับเยาวสตรี เพื่อจะได้หยั่งรากความเชื่อคาทอลิกที่ลึกซึ้ง เยาวสตรีเหล่านี้ได้รับการฝึกฝนชีวิตคริสตชนอย่างเข้มข้น เจริญชีวิตอยู่ด้วยกันในบรรยากาศแห่งความรักฉันพี่น้อง แม้พวกเขาจะมาจากต่างเผ่า ต่างวัฒนธรรม ต่างวิถีชีวิต และต่างสภาพแวดล้อม แต่พวกเขาก็สามารถที่จะสานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ด้วยความรักแบบคริสตชน ตามคุณค่าแห่งพระวรสารที่หล่อเลี้ยงพวกเขาทุกวันด้วยการอ่าน ฟัง รำพึงพระวาจา สวดภาวนาเช้าค่ำ ร่วมพิธีบูชาขอบพระคุณ ประชุมพลมารี นำคุณค่าเหล่านี้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันด้วยการทำหน้าที่ต่างๆ ของตนด้วยความรับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นการทำความสะอาดบ้าน ทำสวน ทำอาหารในแต่ละมื้อ รีดผ้าของทุกคน ฝึกการรับผิดชอบพิธีกรรม ฝึกการใช้เงินอย่างรู้คุณค่าโดยการทำบัญชีประจำวันและสรุปรายรับ รายจ่ายทุกสิ้นเดือน ฝึกฝนคุณธรรมต่างๆ ให้รู้จักปกครองตัวเอง และมีเป้าหมายในชีวิต (เส้นทางชีวิตหลังจากศึกษาจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 แล้วจะไปไหน ?) หัวใจและจิตวิญญาณของเยาวสตรีเหล่านี้เป็นประดุจผ้าขาว พร้อมที่จะเปิดรับและเรียนรู้ ฝึกฝนตนเองด้วยความเอาใจใส่ รู้คุณค่า และกตัญญูรู้คุณต่อพระเป็นเจ้าและผู้มีพระคุณในชีวิตของพวกเขา ซึ่งตระหนักและพูดเสมอว่า “พวกเขาขอบพระคุณพระเป็นเจ้า ขอบคุณคณะซิสเตอร์ผู้รับใช้ฯที่ให้โอกาสในช่วงเวลาที่สำคัญของชีวิต ให้บ้านที่สวยงาม ดูแลเอาใจใส่และเติมเต็มชีวิตพวกเขาอย่างดี พวกเขาจะให้ความร่วมมือกับคณะด้วยความรู้คุณ”
งานในพื้นที่สังฆมณฑลเชียงใหม่ หรือดินแดนแห่งล้านนานี้ คณะภคินีผู้รับใช้ฯ ได้ค้นพบว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ซึ่งมั่งคั่งด้วยวัฒนธรรม และมีงานมากมายที่คอยอยู่ ให้เราเป็นเครื่องมือของพระเจ้าเพื่อรับใช้ประชากรของพระองค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาเด็กๆ และเยาวชน ดังนั้นงานดูแลบรรดาเยาวสตรีเหล่านี้ทั้งด้านร่างกาย จิตวิญญาณ สติปัญญา อารมณ์และสังคม จึงถือว่าเป็นภารกิจสำคัญยิ่ง เพื่อให้พระฉายาลักษณ์ของพระเจ้าที่อยู่ภายในบรรดาเยาวสตรีเหล่านี้จะได้ส่องแสงท่ามกลางสังคมปัจจุบันอย่างมีคุณค่า
หลังจากที่คณะเคยมาช่วยงานของสังฆมณฑลเชียงใหม่สมัยพระสังฆราชรัตน์ บำรุงตระกูล ที่วัดแม่พระองค์อุปถัมภ์ โรงเรียนศิริมาตย์เทวี เมืองพาน จังหวัดเชียงราย (ค.ศ.1977–1991) และวัดนักบุญโยเซฟกรรมกร จังหวัดแพร่ (ค.ศ.1980–ค.ศ.1984) แต่ได้ปิดไปเนื่องจากคณะยังไม่พร้อมด้วยหลายประการ แต่จิตตารมณ์ธรรมฑูตที่ขับเคลื่อนให้คณะล่องใต้จนสุดแหลมทองแล้ว ยังมีพลังส่งให้ขึ้นเหนือมาสัมผัสวัฒนธรรมล้านนาอย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้นในบรรดาเยาวสตรีชนเผ่าเหล่านี้ด้วย
บ้าน “เยาวสตรีหทัยนิรมล” จึงเป็นบ้านหลังแรกของคณะผู้รับใช้ฯ ในเขตสังฆมณฑลเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ ได้รับรองจากพระสังฆราชวีระ อาภรรัตน์ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2554 (จดหมายที่ชม.250/2011) บ้านนี้จึงเป็นบ้านแห่งพระพร เป็นบ้านแห่งรักที่รวมความแตกต่าง ความหลากหลาย และความงามของวัฒนธรรมกลุ่มชาติพันธุ์ ให้เป็นหนึ่งเดียวกันในความรักของพระเจ้าที่ซึ่งทุกคนเจริญชีวิตอยู่ด้วยความอิสระ และสามารถพัฒนาศักยภาพตามพรสวรรค์ของแต่ละคนอย่างเต็มที่
https://www.facebook.com/profile.php?id=100026186509661